ระบบการเงินจ่าย มีชื่อเรียกอีกอย่างคือระบบอีพาสบุ๊ค (e-Passbook) เป็นหนึ่งในระบบย่อยของระบบสารสนเทศการบริหารงานคลังมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการบันทึกและติดตามการเบิกจ่ายเงินของหน่วยงาน โดยมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ 1) เพื่อพัฒนาระบบการเงินจ่าย สำหรับการบริหารจัดการข้อมูลการเบิกจ่ายของหน่วยงาน 2) เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการการเงินของหน่วยงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และตรวจสอบได้ง่าย 3) ลดความซับซ้อนในการทำงาน ช่วยลดภาระงานที่ต้องทำด้วยมือหรือการบันทึกแบบเดิม ๆ ที่ต้องใช้เวลานาน 4) เพื่อประเมินความพึงพอใจการใช้งานระบบ การพัฒนาระบบใช้เทคโนโลยี ASP.NET และฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์Microsoft SQL Server โดยใช้ภาษา SQL (Structured Query Language) เป็นภาษามาตรฐานในการติดต่อกับระบบฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์ ระบบจะทำงานในรูปแบบเว็บแอปพลิเคชัน ที่สามารถเข้าถึงได้ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตใช้เว็บเบราว์เซอร์ Google Chrome เวอร์ชัน 12 ขึ้นไป และใช้โปรแกรม SVN เพื่อช่วยในการบริหารจัดการ Version Control ของไฟล์ต่าง ๆ ระหว่าง Client และ Server
ระบบการเงินจ่าย พัฒนาระบบในส่วนที่ใช้ในการติดต่อกับผู้ใช้งาน มีลักษณะเป็นกราฟิก (Graphical User Interface : GUI) และมีขั้นตอนการทำงานโดยสรุปได้ดังต่อไปนี้ 1) การบันทึกคำขอเบิกจ่าย/บันทึกฎีกาเบิกจ่าย 2) การตรวจสอบและอนุมัติการจ่ายเงิน 3) การดำเนินการจ่ายเงิน 4) การบันทึกรายการจ่ายเงินและจัดทำรายงาน 5) การตรวจสอบและการตรวจสอบบัญชี 6) การบำรุงรักษาและปรับปรุงระบบ นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงกับระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องภายในระบบ ได้แก่ ระบบงบประมาณ ระบบการเงินรับ ระบบจัดซื้อจัดจ้าง และระบบมีความพร้อมในการรองรับการเชื่อมโยงกับระบบภายนอก เช่น ระบบ MJU API เพื่อให้สามารถเพิ่มการเชื่อมโยงนี้ในอนาคตได้อย่างยืดหยุ่น
การประเมินความพึงพอใจในการใช้งานระบบ ใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 59 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินความพึงพอใจในครั้งนี้ ได้แก่ แบบสอบถามที่มีโครงสร้างแน่นอน (Structure Questionnaire) ในส่วนของการประเมินความพึงพอใจในการใช้ระบบ ลักษณะคำถามเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) จำนวน 7 ข้อ ได้แก่ 1) ระบบใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน 2) ระบบช่วยสนับสนุนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 3) ระบบมีเสถียรภาพ ปลอดภัยในการเข้าถึง ใช้งานได้ตลอดเวลา 4) ความถูกต้องในการจัดเก็บข้อมูลของระบบ 5) ความถูกต้องของผลลัพธ์ในการออกรายงาน 6) การกำหนดชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านในการตรวจสอบผู้เข้าใช้งานระบบ 7) การกำหนดสิทธิ์การเข้าใช้งานระบบ และนำมาวิเคราะห์ข้อมูล สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ สถิติเชิงพรรณนา (ค่าความถี่, ค่าเฉลี่ย, ร้อยละ, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) ผลการประเมินความพึงพอใจ พบว่า ผู้ใช้งานส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุระหว่าง 41-50 ปี ระดับการศึกษาปริญญาตรี และผู้ใช้งานส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการการเงินและบัญชี ผลการประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้ระบบในภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ย 4.11 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.55