บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความต้องการลักษณะบริการสารสนเทศของห้องสมุดในยุคดิจิทัลของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล 2) ศึกษาความต้องการลักษณะบริการสารสนเทศของห้องสมุดในยุคดิจิทัลของอาจารย์ในระดับอุดมศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล 3) เพื่อเปรียบเทียบความต้องการลักษณะบริการสารสนเทศของห้องสมุดในยุคดิจิทัลของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล 4) เพื่อเปรียบเทียบความต้องการลักษณะบริการสารสนเทศของห้องสมุดในยุคดิจิทัลของอาจารย์ในระดับอุดมศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล เป็นการศึกษาวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) โดยใช้แบบสอบถาม (Questionnaire) เป็นเครื่องมือ โดยใช้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 402 คน แบ่งเป็นนักศึกษา 315 คน อาจารย์ 87 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิต T test independent และอธิบายผลการศึกษาใช้สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive statistics)
ผลการวิจัย พบว่า ความต้องการลักษณะบริการสารสนเทศของห้องสมุดในยุคดิจิทัลของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑลส่วนใหญ่มีความต้องการบริการด้านเทคโนโลยี ด้านสถานที่/สภาพแวดล้อมทางกายภาพ และด้านบริการ มากเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นค่าเฉลี่ย 4.0 เท่ากัน รองมา คือ ความต้องการด้านทรัพยากรสารสนเทศ คิดเป็นค่าเฉลี่ย 3.8 ในเขตกรุงเทพมหานคร และ 3.9 ในเขตปริมณฑล
ส่วนด้านอาจารย์ในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่า มีความต้องการลักษณะบริการสารสนเทศของห้องสมุดในยุคดิจิทัลส่วนใหญ่ คือ บริการด้านทรัพยากรสารสนเทศ คิดเป็นค่าเฉลี่ย 4.3 รองลงมา คือ บริการด้านเทคโนโลยี ด้านสถานที่/สภาพแวดล้อมทางกายภาพ คิดเป็นค่าเฉลี่ย 4.1 เท่ากัน รองลงมา คือ ด้านบริการ คิดเป็นค่าเฉลี่ย 4.0 ส่วนด้านอาจารย์ในเขตปริมณฑลมีความต้องการลักษณะบริการสารสนเทศของห้องสมุดในยุคดิจิทัลส่วนใหญ่ คือ บริการด้านเทคโนโลยี ด้านสถานที่/สภาพแวดล้อมทางกายภาพ และด้านการบริการ คิดเป็นค่าเฉลี่ย 4.5 เท่ากัน รองลงมา คือ บริการด้านทรัพยากรสารสนเทศ คิดเป็นค่าเฉลี่ย 4.4
เมื่อเปรียบเทียบลักษณะความต้องการบริการด้านเทคโนโลยี ด้านทรัพยากรสารสนเทศ ด้านสถานที่/สภาพแวดล้อมทางกาย และด้านบริการของห้องสมุดในยุคดิจิทัลโดยภาพรวม จำแนกตาม เพศ อาชีพ ช่วงอายุ ระดับการศึกษา พบว่า ตัวแปรที่มีผลต่อความต้องการลักษณะบริการสารสนเทศของห้องสมุดได้แก่ เพศ และ อายุ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 แต่ไม่พบความแตกต่างของความต้องการในปัจจัยอื่น ๆ
เมื่อเปรียบเทียบความต้องการลักษณะบริการสารสนเทศของห้องสมุดในยุคดิจิทัลของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล พบว่า ความต้องการลักษณะบริการสารสนเทศของนักศึกษาด้านเทคโนโลยี ด้านทรัพยากรสารสนเทศ ด้านสถานที่/สภาพแวดล้อมทางกายภาพ และด้านบริการ มีความต้องการที่ไม่แตกต่างกันเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ด้านอาจารย์ พบว่า มีความต้องการลักษณะบริการสารสนเทศของห้องสมุดในยุคดิจิทัล คือ ด้านเทคโนโลยี ด้านสถานที่/สภาพแวดล้อมทางกายภาพ และด้านบริการ โดยมีความต้องการที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 ยกเว้นด้านทรัพยากรสารสนเทศที่มีความต้องการที่ไม่แตกต่างกัน